ข่าวจากสโมสร

CITYZENS STORY: อิสระพงษ์ โยธา ซิติเซ่นส์ชาวไทยผู้หลงใหลเสื้อซิตี้ยุคเก่า

วันนี้ Cityzens Story จะพาแฟน ๆ ไปทำความรู้จักกับ ‘ภูมิ’ อิสระพงษ์ โยธา นักสะสมเสื้อฟุตบอล ผู้ที่มีผลงานการสะสมมากกว่า 150 ตัว

ในฐานะแฟนบอล หนึ่งสิ่งที่จะสามารถแสดงความรักความผูกพันที่มีต่อทีมรักได้ก็คือ ‘เสื้อแข่ง’ ซึ่งแฟนบอลส่วนใหญ่ก็มักจะหาซื้อมาใส่กันในทุก ๆ ฤดูกาล เรียกได้ว่ามีการเปิดตัวเสื้อแข่งฤดูกาลใหม่มาเมื่อไหร่ เป็นต้องหาซื้อมาใส่

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นแบบนั้น... 

DOWNLOAD THE MAN CITY APP

ภูมิ อิสระพงษ์ อิสระพงษ์ ซิติเซนส์จากจังหวัดสระบุรี คือผู้ที่หลงใหลในการสะสมเสื้อฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ โดยเขาเริ่มต้นสะสมเสื้อมาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีหลักในการสะสมอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ 

ข้อแรก เขาจะเลือกเก็บสะสมเสื้อแข่งรุ่นเก่าเป็นส่วนใหญ่ (ยิ่งเก่ายิ่งดี) และสอง, ต้องเป็นเสื้อแข่งของแมนเชสเตอร์ ซิตี้เท่านั้น 

ภูมิ และคอลเลคชั่นของเขา
ภูมิ และคอลเลคชั่นของเขา

“ถ้าถามว่าชอบเสื้อใหม่มั้ย ผมก็ชอบนะ แต่ถ้าให้เลือกผมเลือกเสื้อเก่าก่อน

“เสื้อรุ่นใหม่ผมก็ซื้อ แต่ผมชอบจะรอให้มันผ่านไปซัก 2-3 ฤดูกาลก่อน ค่อยหามาเก็บไว้

“แต่ผมคิดว่าเสื้อเก่า ๆ ลายน้ำมันไม่เหมือนเสื้อสมัยใหม่ สำหรับผม มันสวยกว่าเยอะ มันน่าเก็บกว่า

“วิธีการที่ผมเก็บคือ ไล่เก็บไปทีละสปอนเซอร์ ไล่เก็บ BROTHER, THOMAS COOK แต่ของ ETIHAD รุ่นใหม่ ๆ ยังเหลืออีกเยอะครับ” 

AGUEROOOOOOO! : เซอร์จิโอ้ อเกวโร่ นักเตะคนโปรดของภูมิ
AGUEROOOOOOO! : เซอร์จิโอ้ อเกวโร่ นักเตะคนโปรดของภูมิ

ภูมิเล่าว่าเขาเริ่มเชียร์ซิตี้มาตั้งแต่ปี 2012 และไล่เก็บสะสมเสื้อมาเกือบจะครบ 10 ปีแล้ว โดยตอนนี้คอลเลคชั่นของเขามีเสื้อแข่งของซิตี้มากกว่า 150 ตัว

“ผมเริ่มเชียร์ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 ครับ นัดที่เจอกับ QPR เลย  แล้วก็ซื้อเสื้อตัวแรกปี 2014, เป็นเสื้อของฤดูกาลนั้นเลย

“ต่อมาผมก็ไปเจอเสื้อของซิตี้ที่ใช้แบรนด์ Kappa, ซึ่งผมชอบแบรนด์นี้อยู่แล้ว จากนั้นก็เริ่มไล่ตามเก็บเสื้อรุ่นเก่า ๆ มาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันก็มีมากกว่า 150 ตัวแล้วครับ

“ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่เคยสะสมเสื้อฟุตบอลมาก่อน แต่พอเราได้เริ่มแล้ว มันจะติดเครื่องเลย หยุดไม่ได้จริง ๆ ถ้าใครเป็นนักสะสมจะเข้าใจดี” 

สิ่งหนึ่งที่เป็นของคู่กันกับเสื้อฟุตบอล คือ ‘เสื้อผิดลิขสิทธิ์’ ซึ่งสำหรับเสื้อรุ่นเก่า ๆ นั้นภูมิบอกว่ามองได้ไม่ยาก, โดยเขาเล่าว่า: “เสื้อทุกตัวของผมเป็นเสื้อของแท้หมดนะครับ

“แต่ส่วนใหญ่เสื้อเก่า ๆ จะไม่ค่อยมีปลอม เพราะถ้าของปลอมมันจะดูออกเลย ไม่ปลอมเหมือนกับสมัยใหม่ที่ปลอมเหมือนมาก - วัสดุ การตัดเย็บ สมัยก่อนมันจะไม่เหมือนสมัยใหม่ ถ้าของปลอมจะดูออกได้ง่ายมาก

“หรือเสื้อบางรุ่นเราก็ไปหาดูตามอินเตอร์เน็ต ว่าของแท้ของปลอมเป็นยังไง” 

จากความชอบกลายมาเป็นอาชีพ, โดยปัจจุบันภูมิเปิดเพจเฟซบุ๊กขายเสื้อผ้ากีฬาและเสื้อวินเทจ ใช้ชื่อว่า We are วินเทจ -เสื้อผ้ามือสอง 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เพจนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับขายเสื้อแมนฯ ซิตี้! 

“ผมเปิดเพจขายเสื้อผ้ากีฬาก็จริง แต่เวลาประมูลเสื้อกี่ครั้ง ไม่เคยมีเสื้อแมนฯ ซิตี้เลย

“บางทีลูกค้ามาถาม ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง..

“เคยมีคนมาขอเหมาผม ตอนนั้นผมมีอยู่แค่ 60 ตัว เขาขอซื้อ 100,000 บาทผมก็ไม่ขาย, ไม่มีทางขายเลย เพราะมันหายาก จะไปหาใหม่ก็ไม่ได้แล้ว เพราะอย่างบางตัวที่ผมได้มา เราไปตามตื๊อเจ้าของอยู่เป็นปี กว่าเขาจะปล่อยให้เรา” 

เสื้อฟุตบอลเก่าในหมู่นักสะสมส่วนใหญ่จะมีมูลค่าตัวละ 1-2 พันบาทขึ้นไป, ขึ้นอยู่กับความสวยงาม, ความเก่า และความต้องการของเสื้อรุ่นนั้น ๆ

ซึ่งนอกจากปัจจัยที่กล่าวไปแล้ว เรื่องราวของเสื้อแข่งในฤดูกาลนั้น ๆ ก็เป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าของเสื้อด้วยเช่นกัน 

“แต่ก่อนราคาไม่สูงเท่าตอนนี้ครับ แต่ก่อน 1-2 พันก็ซื้อได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ราคาสูงมาก เสื้อเก่าตัวนึงก็ต้องมี 5-6 พัน ราคามันสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางตัวถ้ายิ่งเก่าก็จะยิ่งแพงครับ ของผมเก่าสุดก็น่าจะเป็นเสื้อจากปี 1986 

“มีบางตัวที่ผมอยากได้มาก เท่าไหร่ผมก็เอา ยิ่งชุดเยือนชุดที่ 3 ยิ่งหายาก 

“เสื้อแต่ละตัวก็จะมีสตอรี่ของมัน บางตัวราคาเหยียบหลักหมื่น สองหมื่นก็มี, อย่างเสื้อรุ่นที่พี่น้องกัลลาเกอร์ใส่

“อย่าง 2 ตัวนี้เป็นเสื้อของปีที่เราตกชั้นและเลื่อนชั้น

“ถ้าเป็นเสื้อของผู้รักษาประตูก็จะยิ่งหายาก, ของผมมีสกรีน [แคสเปอร์] ชไมเคิ่ล ซึ่งคุณพ่อของเขาก็เคยเล่นกับซิตี้ด้วย

“แล้วก็มีรุ่นจากฤดูกาลที่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกครั้งแรก หายากมาก เพราะมีสกรีนสีทองเลข 12, รุ่นฉลองแชมป์

“ตอนนี้ทั้งหมดที่ผมมี ถ้าถามว่ามูลค่าเท่าไหร่ ผมไม่รู้เลยครับ มันมีมูลค่าทางใจมากกว่า” 

พี่น้องกัลลาเกอร์ : โนล และ เลียม กัลลาเกอร์ ถ่ายภาพในชุดยูนิฟอร์มซิตี้ เมื่อปี 1994
พี่น้องกัลลาเกอร์ : โนล และ เลียม กัลลาเกอร์ ถ่ายภาพในชุดยูนิฟอร์มซิตี้ เมื่อปี 1994

[ซ้าย] เสื้อเยือนของแมนฯ ซิตี้ 1998/99 : เป็นเสื้อที่ทัพซิตี้สวมใส่ในเกมเพลย์-ออฟดิวิชั่น 2 นัดชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์, โดยซิตี้เอาชนะ Gillingham สุดดราม่า เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ
[ซ้าย] เสื้อเยือนของแมนฯ ซิตี้ 1998/99 : เป็นเสื้อที่ทัพซิตี้สวมใส่ในเกมเพลย์-ออฟดิวิชั่น 2 นัดชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์, โดยซิตี้เอาชนะ Gillingham สุดดราม่า เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ

เสื้อแข่งผู้รักษาประตู 2008/09 สกรีนแคสเปอร์ ชไมเคิ่ล
เสื้อแข่งผู้รักษาประตู 2008/09 สกรีนแคสเปอร์ ชไมเคิ่ล

จากระยะเวลาเกือบ 10 ปี และเสื้อบอลมากกว่า 150 ตัวที่ภูมิได้สะสมเสื้อฟุตบอลมา เขาทำมันด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือ ‘ความสุข’ 

“หัวใจหลักของการสะสมคือความสุขล้วน ๆ เลยครับ

ผมภูมิใจนะ, นาน ๆ ที  เวลาผมจะเอาออกมาดู เอาออกมาเรียง, อย่างเมื่อวานผมเอาออกมา โอ้โห... มันมีความสุขมากเลย” 

[ขวา] เสื้อเยือน 1986-87 : เสื้อตัวล่าสุดในคอลเลคชั่นของเขา
[ขวา] เสื้อเยือน 1986-87 : เสื้อตัวล่าสุดในคอลเลคชั่นของเขา

แฟน ๆ สามารถติดตามภูมิได้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของเจ้าตัว ITsarapong Yotha

อีกทั้งคุณยังสามารถติดตามคอลัมน์ CITYZENS STORY ของเรา, ที่จะนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจของซิติเซ่นส์ชาวไทย ได้ทางเว็ปไซต์ th.mancity.com และ Man City App แอปพลิเคชั่นอย่างเป็นทางการของเรา 

 

DOWNLOAD THE MAN CITY APP

 

ซิตี้ล้วน! : เสื้อแข่งส่วนหนึ่งในคอลเลคชั่น
ซิตี้ล้วน! : เสื้อแข่งส่วนหนึ่งในคอลเลคชั่น

Mancity.com

31?
loading